วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การนับ ห้วงเวลา

เวลาอ้างอิง ในอดีต บ้าง อนาคตบ้าง บางครั้งยาวนาน จนไม่ทราบจะ นับอย่างไร


เช่น  พุทธธันดร
(ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นไป และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ.)

อายุกัปป์  (หมายถึงอายุมนุษย์ที่เกิดช่วงนั้นก็ได้)

อสงไขกัปป์  เกี่ยวกับ พรหม ที่อายุยืดยาว

อายุโลก (แบ่ง เป็น 4 ส่วน  เราสามารถ มาเกิดได้ 1 ส่วนเจริญสุด  ตอนนี้ อยู่ 12-13  จาก 64 ส่วน)

พระพุทธเจ้าเรา บำเพ็ญบารมี 4 อสงไขย์ กับ แสนกัลป์

>>มุนีนาถทีปนี<<
https://docs.google.com/file/d/0B9GGgsaIOUyKYUFlSHJhMVloRFk/edit

ความหมายของกัลป์
          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ อธิบายคำว่า กัลป์ ไว้ว่า กาลกำหนดกำหนดอายุของโลกระยะเวลายาวนานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ 1 โยชน์ ทุก 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้ออย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น” (พระพรหมคุณาภรณ์2551: 10)
ประเภทของกัลป์
          พระพรหมคุณาภรณ์ (2551: 10-11) อธิบายคำว่า กัลป์ ซึ่งได้แก่ มหากัลป์ อสงไขยกัลป์ อันตรกัลป์ สุญกัลป์ และอสุญกัลป์ ว่า
          1. มหากัลป์ กัลป์ใหญ่ คือ กำหนดอายุของโลกอันหมายถึงสกลพิภพ
          2. อสงไขยกัลป์ คือ กัลป์อันนับเวลามิได้ คือ ส่วนย่อยแห่ง 4 มหากัลป์ ได้แก่
                   - สังวัฏฏกัลป์ กัลป์เสื่อม คือ ระยะกาลที่โลกเสื่อมลงจนถึงวินาศ
                   - สังวัฏฏฐายีกัลป์ ระยะกาลที่โลกพินาศแล้วทรงอยู่
                   - วิวัฏฏกัลป์ กัลป์เจริญ คือ ระยะกาลที่โลกกลับเจริญขึ้น
                   - วิวัฏฏฐายีกัลป์ คือ ระยะกาลที่โลกเจริญแล้วทรงอยู่
          3. อันตรกัลป์ คือ กัลป์ในระหว่าง ได้แก่ ระยะกาลที่หมู่มนุษย์เสื่อมจนส่วนใหญ่พินาศแล้ว ส่วนที่เหลือดีขึ้นเจริญขึ้นและมีอายุยืนยาวจนถึงอสงไขย แล้วกลับทรามเสื่อมลง อายุสั้นลง จนเหลือเพียงสิบปีแล้วพินาศ ครบรอบนี้เป็นอันตรกัลป์หนึ่ง 64 อันตรกัลป์เป็น 1 อสงไขยกัลป์
          4. สุญกัลป์  กัลป์ที่ว่างเปล่า คือ กัลป์ที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ (รวมทั้งไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวกและพระเจ้าจักพรรดิราชด้วย)
          5. อสุญกัลป์  กัลป์ไม่สูญ คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ มี 5 ประเภทคือ
                   - สารกัลป์ (กัลป์ที่มีสาระขึ้นมาได้โดยมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ) คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ 1 พระองค์
                   - มัณฑกัลป์ (กัลป์เยี่ยมยอด) คือ กัลป์ที่พระพุทธเจ้าอุบัติ 2 พระองค์
                   - วรกัลป์ (กัลป์ประเสริฐ) คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 3 พระองค์
                   - สารมัณฑกัลป์ (กัลป์ที่มีสาระเยี่ยมยอดยิ่งกว่ากัลป์ก่อน) คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 4 พระองค์
                   - ภัทรกัลป์ (กัลป์ที่เจริญหรือกัลป์ที่ดีแท้) คือ กัลป์ที่พระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์ (กัลป์ปัจจุบันที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระโคตมะ ที่อุบัติแล้วและพระเมตไตรย์ที่จะอุบัติต่อไป)
สัตถันตรกัลป์ ทุพพิกขันตรกัลป์และโรคันตรกัลป์
          ทั้งสัตถัน ทุกพิกขและโรคัน ล้วนสนธิกับคำว่า อันตรกัลป์ ซึ่งหมายถึง การวินาศของสัตว์โลกอันเนื่องมาจาก สัตถัน (อาวุธ) ทุพพิกขะ (ความอดอยาก) โรคะ (โรคภัยไข้เจ็บ) ระยะเวลาแห่งการเกิดการเกิดสัตถันตรกัลป์ โรคันตรกัลป์  และทุพพิกขันตรกัลป์ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี และเต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งมีอยู่ 3 อย่าง คือ ราคะ โทสะ และโมหะ หากมนุษย์มีความกิเลสหนักไปในทางใด ก็จะบังเกิดเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
          1) สัตถันตรกัลป์สาเหตุของการเกิดสัตถันตรกัลป์ คือ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี เต็มไปด้วยโทสะ ความอาฆาตพยาบาทซึ่งกันและกัน การผูกเวรต่อกัน ไม่ยำเกรงเคารพในบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ฆ่าผู้มีพระคุณ ล่วงประเวณี บิดา มารดา ญาติพี่น้องของตน บัดนั้นมนุษย์ทั้งปวงจึงหยิบอาวุธขึ้นประหัตประหารกันตายเกลื่อนแผ่นดิน มีระยะเวลา 7 วัน สัตว์ส่วนใหญ่ที่ตายไปบังเกิดในจตุราบายเพราะอำนาจของโทสะเป็นหลัก (กรมศิลปากร เล่ม 1 2520: 88)
          2) โรคันตรกัลป์  สาเหตุของโรคันตรกัลป์ คือ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี เต็มไปด้วยราคะ โรคาพยาธิต่าง ๆ ก็บังเกิดแก่มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายก็ล้มตายกลาดเกลื่อนทั่วแผ่นดินชมพูทวีป มีระยะเวลาการเกิด 4 เดือน สัตว์ที่ตายด้วยโรคันตรกัลป์ไปบังเกิดยังสวรรค์โดยมากเพราะเหตุที่มีเมตตาจิตต่อกัน (อานุภาพเมตตา) (กรมศิลปากร เล่ม 1 2520: 93)
          3) ทุพภิกขันตรกัลป์สาเหตุของทุพภิกขันตรกัลป์ คือ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี เต็มไปด้วยโมหะ สัตว์ทั้งปวงก็ตายด้วยความอดอยากอาหารกลาดเกลื่อนไปทั่วแผ่นดินชมพูทวีป มีระยะเวลาการเกิด 7 เดือน สัตว์ที่ตายด้วยทุพภิกขันตรกัลป์ส่วนใหญ่ไปเกิดในเปตวิสัยเนื่องจากเต็มไปด้วยความอยากในอาหาร (กรมศิลปากร เล่ม 1 2520: 93)
          ในพระไตรปิฎก จักวัตติสูตร ศาสนาพระพุทธเจ้าโคดมพระองค์ปัจจุบันมีอายุ 5000 ปี (คือ พ.ศ. 5000) เมื่อถึงเวลานั้นมนุษย์จะไม่รู้บาปรู้บุญ ทำอนาจารกับพ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ ครูบาอาจารย์ตนเองประดุจสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์จะมีอายุขัยเพียง 10 ปี เมื่อมีอายุ 5 ปีจะสมรสเป็นสามี ภรรยากัน เมื่อนั้นจะบัง “สัตถันตรกัลป์” คือ การฆ่าฟันกันด้วยอาวุธ หยิบจับสิ่งใดก็เป็นอาวุธประหัตประหารซึ่งกันและกันอันเนื่องมาจากโทสะที่แรงกล้าเป็นสาเหตุ ระยะเวลาที่เกิดคือ 7 วัน บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่หลบซ่อนตามป่าเขาเมื่อพ้น 7 วันแล้วก็ออกมาแล้วเห็นผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่างพากันสมาน “กุศลกรรมบท 10 ประการ” อายุของลูกหลานพวกเขาเหล่านั้นจึงเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอสงไขยแล้วอายุลดลงมาเหลือ 80,000 ปีก็จะมีพระศรีอาริยเมตไตรย์ลงมาอุบัติพร้อมกับพระเจ้าสังขจักรพรรดิราช
ไฟบรรลัยกัลป์
            หรือกัลป์วินาศด้วยไฟ ในพระไตรปิฎก สัตตสุริยสูตร กล่าวถึงกัลป์วินาศด้วยไฟ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงสมัยที่มีพระอาทิตย์ขึ้น 7 ดวงว่า เมื่อเวลาล่วงไป ฝนไม่ตก พืชพรรณต่างๆ เหี่ยวเฉาตายไป จึงเกิดพระอาทิตย์ขึ้นดวงที่ 2 แม่น้ำลำคลองก็จะแห้งเหือดไปทั้งหมด เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 3 แม่น้ำปัญจมหานที คือ คงคา ยมมุนา อจิรวดี สรภูและมหิ จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 4 สระใหญ่ต่างๆ เช่น อโนดาต กุณาลา มันทกินิยะ เป็นต้น ก็จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 5 น้ำในมหาสมุทรจะเหือดแห้งไปเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 6 แผ่นดินทั้งหลายและเขาพระสุเมรุจะเกิดกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 7 จึงบังเกิดเปลวไฟเผาผลาญสรรพสิ่ง ไฟที่เผาผลาญนี้จะไม่มีเถ้าถ่านเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว
          คัมภีร์โลกทีปกสาร กล่าวถึงกัลป์วินาศด้วยไฟ ว่า 100,000 ปี ก่อนเกิดไฟบรรลัยกัลป์ เทวดาสวรรค์ฉกามาพจรชื่อ โลกพยุหะ นุ่งผ้าแดง พลางร้องไห้มาประกาศกับหมู่มนุษย์ว่าอีก 100,000 ปีจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ พวกท่านจงเร่งทำกุศลก็จะพ้นจากไฟบรรลัยกัลป์ เมื่อครบ 100,000 ปี ฝนไม่ตกเป็นระยะเวลานาน จึงเกิดพระอาทิตย์ขึ้นดวงที่ 2 แม่น้ำลำคลองก็จะแห้งเหือดไปทั้งหมด เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 3 แม่น้ำปัญจมหานที คือ คงคา ยมมุนา อจิรวดี สรภูและมหิ จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 4 สระใหญ่ต่างๆ เช่น อโนดาต กุณาลา มันทกินิยะ เป็นต้น ก็จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 5 น้ำในมหาสมุทรจะเหือดแห้งไปเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 6 แผ่นดินทั้งหลายและเขาพระสุเมรุจะเกิดกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 7 จึงบังเกิดเปลวไฟเผาผลาญสรรพสิ่งไปจนถึงพรหมชั้นอาภัสสราไฟที่เผาผลาญนี้จะไม่มีเถ้าถ่านเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว
          กัลป์วินาศด้วยน้ำและลมผมจะไม่ขอกล่าวถึงเพราะเป็นไปในลักษณะเดียวกันแต่เปลี่ยนเป็นลมและน้ำเท่านั้น (ทั้งหมดนี้สกัดจากความรู้บางส่วนในวิทยานิพนธ์เรื่อง“ไตรภูมิฉบับหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส ความสัมพันธ์ระหว่างคติพุทธกับพราหมณ์-ฮินดู” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณิต  วิงวอน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา)
ในหัวข้อต่อไปผมจะอธิบายเกี่ยวกับยุคพระศรีอาริเมตไตรย์และคุณธรรมสำคัญที่เป็นปัจจัยให้มนุษย์มีอายุยืนหรือลดลงนั่นคือ “กุศลกรรมบท 10” และ “อกุศลกรรมบท 10”
เอกสารอ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต). 2551. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. 2549. พระบาลีสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10. กรุงเทพฯ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
ธรรมปรีชา, พระยา. 2520. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ฉบับที่ 2 (ไตรภูมิฉบับหลวง) เล่ม 1. กรุงเทพฯ กรมศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น